สาขาการพยาบาลสัตว์ เทคนิคการสัตวแพทย์ สัตวแพทย์ และสัตวศาสตร์ แตกต่างกันอย่างไร

คำตอบ ต้องขอเริ่มต้นจากการให้นิยามของแต่ละสาขาก่อน
1. สัตวแพทย์ คือ บุคคลที่เรียนจบคณะสัตวแพทยศาสตร์ ในระดับปริญญาตรีจากมหาวิทยาลัยต่างๆ ได้รับคุณวุฒิ ปริญญาทางสัตวแพทยศาสตร์ (สพ.บ.) 6 ปีและ ได้รับใบประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ชั้นหนึ่งซึ่งผ่านการรับรองโดยสัตวแพทยสภา สัตวแพทย์สามารถทำหน้าที่บำบัดรักษาโรคสัตว์โดยการใช้ยา เป็นผู้ผ่าตัด หรือใช้รังสีในการรักษา การผ่าซากสัตว์เพื่อการชันสูตร รวมถึงการทำงานด้าน สุขศาสตร์สัตว์ ควบคุมอาหาร มาตรฐานอาหารและปนเปื้อนในอาหารที่มีต้นกำเนิดมากจากสัตว์เพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค รวมถึงการดูแลสุขภาพสัตว์และผลผลิตในฟาร์มเลี้ยงสัตว์เศรษฐกิจ ทำการวิจัยและพัฒนาทางด้านสัตวแพทย์ เป็นต้น
2. นักเทคนิคการสัตวแพทย์ คือ คือผู้ที่สำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต ในสาขาวิชาเทคนิคการสัตวแพทย์ 4 ปี หน้าที่หลักของนักเทคนิคการสัตวแพทย์คือรับผิดชอบงานทางห้องปฏิบัติการตรวจวินิจฉัยโรคสัตว์ ไม่ว่าจะเป็นงานทางด้านโลหิตวิทยา เคมีคลินิก ภูมิคุ้มกันวิทยา ปรสิตวิทยา จุลชีววิทยา ฯลฯ โดยเน้นทางด้านการตรวจวิเคราะห์ตัวอย่างส่งตรวจทางห้องปฏิบัติการเช่น เลือด ปัสสาวะ อุจจาระ หรือสารคัดหลั่งต่างๆ ตรวจพยาธิวิทยาของชิ้นเนื้อและตรวจสารตกค้างในเนื้อสัตว์ อาหารสัตว์ และพัฒนาห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจวินิจฉัยทางสุขภาพสัตว์
3. นักการพยาบาลสัตว์ คือ ผู้ที่สำเร็จการศึกษาและได้รับปริญญาวิทยาศาสตรบัณฑิต (การพยาบาลสัตว์) 4 ปีในระดับปริญญาตรี ซึ่งจะปฏิบัติงานด้านการพยาบาลสัตว์ในสัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ และสัตว์ป่าได้แก่ การประเมินสุขภาพสัตว์เบื้องต้น การปฐมพยาบาล การดูแลสัตว์ขณะเจ็บป่วยและหลังการรักษา การฟื้นฟูสัตว์โดยการทำกายภาพบำบัด การเป็นผู้ช่วยผ่าตัด เตรียมเครื่องมือและประเมินสัตว์ระหว่างการผ่าตัด และการดูแลทางด้านโภชนาการที่ถูกสุขลักษณะเพื่อเพิ่มคุณภาพชีวิตสัตว์ การป้องกันโรคสัตว์ ตลอดจนมีความรู้ความสามารถในงานด้านการเพิ่มประชากรสัตว์เพื่อเชิงพาณิชย์ สัตว์เลี้ยง สัตว์ทดลอง สัตว์ป่า และสัตว์ที่ใกล้สูญพันธุ์และงานด้านการตรวจวิเคราะห์ ทางห้องปฏิบัติการ
4. สัตวศาสตร์ จะเรียนเกี่ยวกับการผลิตสัตว์ โดยเน้นสัตว์เศรษฐกิจที่ใช้ในการบริโภค เช่น สุกร ไก่ โค กระบือ ทักษะในการจัดการฟาร์ม การใช้อาหารสัตว์อย่างมีประสิทธิภาพและให้ผลผลิตสูง เพื่อเสริมสร้างให้สัตว์เจริญเติบโตแข็งแรงมีสุขภาพดี ที่อยู่อาศัยของสัตว์ หลักการควบคุมสิ่งแวดล้อมให้สัตว์เจริญเติบโต มีสุขภาพดีและไม่เกิดโรค มีความรู้เกี่ยวกับเชื้อโรคและปรสิตเพื่อป้องกันไม่ให้มีการติดเชื้อและโรคระบาด มีความเข้าใจด้านชีววิทยาของสัตว์ พันธุกรรม และการสืบสายพันธุ์สัตว์เพื่อนำมาใช้ในการเพาะขยายพันธุ์สัตว์ให้ได้ตรงตามเป้าหมาย
โดยสัตวแพทย์ นักเทคนิคการสัตวแพทย์และพยาบาลสัตว์ทำงานร่วมกันเพื่อพัฒนาคุณภาพและยกระดับมาตรฐานของการรักษาสัตว์ นักการพยาบาลสัตว์ทำหน้าที่ในโรงพยาบาลสัตว์คล้ายกับพยาบาลของคน นักเทคนิคการสัตวแพทย์เปรียบเสมือนนักเทคนิคการแพทย์ และสัตวแพทย์ทำหน้าที่ในการรักษาเปรียบเสมือนแพทย์ในโรงพยาบาลของคนนั่นเอง ส่วนสัตวศาสตร์จะเน้นทางด้านปศุสัตว์และการจัดการฟาร์ม

เรียนสาขาการพยาบาลสัตว์หรือสาขาเทคนิคการสัตวแพทย์แล้วสามารถไปเรียนต่อเป็นสัตวแพทย์ได้หรือไม่

คำตอบ ไม่ได้ เนื่องจากการพยาบาลสัตว์หรือเทคนิคการสัตวแพทย์เป็นคนละหลักสูตรกับสัตวแพทยศาสตร์และคนละคณะ ถ้าหากต้องการเป็นสัตวแพทย์จะต้องสอบเข้าคณะสัตวแพทยศาสตร์และเริ่มต้นเรียนใหม่เท่านั้น

ความแตกต่างระหว่างสาขาการพยาบาลสัตว์ภาคปกติและภาคพิเศษ

คำตอบ เนื้อหาในการเรียนการสอนเหมือนกัน และจบไปได้รับปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (การพยาบาลสัตว์) เหมือนกัน แต่แตกต่างกันตรงคุณสมบัติและวิธีการรับเข้าศึกษา ค่าใช้จ่ายในการเรียนและการจัดการเรียนการสอนคนละช่วงเวลา

สาขาการพยาบาลสัตว์ภาคพิเศษย้ายมาเรียนภาคปกติได้หรือไม่

คำตอบ สามารถทำได้โดยสอบเข้าใหม่ในภาคปกติเท่านั้น แต่ถ้าหากนิสิตเรียนได้เกรดมากกว่า C+ ในรายวิชาใดๆ ก็ตาม สามารถเทียบโอนได้และเข้าเรียนใหม่โดยไม่ต้องเรียนวิชานั้นๆ อีก

หากเรียนไปแล้วสามารถย้ายข้ามสาขาระหว่างสาขาการพยาบาลสัตว์หรือสาขาเทคนิคการสัตวแพทย์ได้หรือไม่

คำตอบ สามารถทำได้โดยต้องเป็นนิสิตภาคปกติเท่านั้นและเป็นไปตามเกณฑ์ที่ทางคณะกำหนด

นิสิตสาขาการพยาบาลสัตว์ภาคพิเศษสามารถกู้ยืม กยศ กรอ ได้หรือไม่

คำตอบ สามารถกู้ยืมได้ แต่ทุนอาจไม่ครอบคลุมค่าเล่าเรียนทั้งหมด หากมีส่วนต่างของค่าเล่าเรียนนิสิตต้องจ่ายเพิ่มเติมเอง

ผู้ที่จบสาขาการพยาบาลสัตว์สามารถเรียนต่อระดับปริญญาโทและปริญญาเอกได้หรือไม่

คำตอบ น้องๆที่เรียนจบสาขาการพยาบาลสัตว์ จะได้รับวุฒิปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต (การพยาบาลสัตว์) ซึ่งสามารถเรียนต่อปริญญาโท-เอก ที่คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ สาขาเทคโนโลยีสุขภาพสัตว์ หรือที่คณะสัตวแพทย์ ก็สามารถเลือกต่อได้หลายสาขา เช่น กายวิภาคศาสตร์ พยาธิวิทยา ปรสิตวิทยา เภสัชวิทยา จุลชีววิทยา เป็นต้น หรือในคณะสาขาอื่นๆทั้งในประเทศและต่างประเทศ ที่รับผู้ที่มีวุฒิปริญญาตรีวิทยาศาสตร์บัณฑิต

อาชีพที่สามารถทำได้หลังสำเร็จการศึกษาในสาขาการพยาบาลสัตว์

คำตอบ สามารถประกอบอาชีพด้านการพยาบาลสัตว์ ครอบคลุมทั้ง สัตว์เลี้ยง ปศุสัตว์ และสัตว์ป่า ในหน่วยงานทั้งของรัฐและเอกชน งานธุรกิจด้านการจัดการที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ หรือเป็นเจ้าของโรงพยาบาลสัตว์ งานด้านห้องปฏิบัติการการตรวจวิเคราะห์ด้านสุขภาพสัตว์และสารตกค้าง ตลอดจนเป็นนักวิจัยทำงานวิจัยที่เกี่ยวข้องกับสัตว์ ยกตัวอย่างเช่น
1) เป็นนักการพยาบาลสัตว์
2) นักวิชาการและนักวิจัยด้านการพยาบาลสัตว์ในหน่วยงานภาครัฐและเอกชน
3) ปฏิบัติงานในโรงฆ่าสัตว์ อาทิ พนักงานตรวจคุณภาพเนื้อ
4) งานที่เกี่ยวข้องโดยทางตรงและทางอ้อมกับสุขภาพสัตว์
5) งานที่เกี่ยวข้องกับการเพาะพันธุ์สัตว์เพื่อการวิจัยและอนุรักษ์
6) งานด้านสวนสัตว์
7) อาชีพอื่นๆ ที่ใช้พื้นฐานความรู้ทางวิทยาศาสตร์

ณ ปัจจุบัน มีหลักสูตรการพยาบาลสัตว์เปิดสอนที่ไหนบ้าง

คำตอบ หลักสูตรการพยาบาลสัตว์มีเปิดสอนในหลายประเทศ เช่น ฮ่องกง ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สหราชอาณาจักร แคนาดา ส่วนในประเทศไทยมีการเปิดสอนในระดับมหาวิทยาลัยในหลักสูตรการพยาบาลสัตว์ คณะเทคนิคการสัตวแพทย์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

สาขาการพยาบาลสัตว์เรียนเกี่ยวกับการดูแลสัตว์ชนิดใดบ้าง

คำตอบ นิสิตที่เรียนในสาขาการพยาบาลสัตว์ จะได้เรียนรู้เทคนิคการจับบังคับ การตรวจร่างกายการให้ยา การให้สารน้ำและหลักการพยาบาลสัตว์ ในสุนัข แมว ม้า สัตว์ปีก สุกร สัตว์น้ำและสัตว์เลี้ยงพิเศษ

อัตราเงินเดือนหลังจบการศึกษา

คำตอบ จากข้อมูลการสำรวจนิสิตที่จบในสาขาการพยาบาลสัตว์ โดยเฉลี่ย ประมาณ 15,000-20,000 บาท